วันจันทร์ที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2553

เหตุการณ์กบฎ ร.ศ.130 (กบฎเหล็ง ศรีจันทร์)


กบฎ ร.ศ. 130
คณะกบฏ ร.ศ. 130
ในต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว หลังจากพระองค์ขึ้นครองราชย์ได้ราวปีเศษ ทางการสืบทราบว่ามีคณะนายทหารและพลเรือนกลุ่มหนึ่งจัดตั้งสมาคม "อานาคิช" (Anarchist) มีสมาชิกประมาณ ๘๐๐ - ๑,๐๐๐ คน มีจุดมุ่งหมายวางแผนเปลี่ยนแปลงการปกครองลดพระราชอำนาจพระมหากษัตริย์ลงมาอยู่ภายใต้กฎหมายเหมือนพระมหากษัตริย์อังกฤษหรือพระมหาจักรพรรดิญี่ปุ่น
ทางการจึงเข้าจับกุมตัวการสำคัญในการคบคิดวางแผนการในตอนเช้าวันศุกร์ที่ ๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๕๔ (ร.ศ. ๑๓๐)
ผู้ถูกจับกุมชุดแรกคือ นายร้อยเอกขุนทวยหารพิทักษ์ (เหล็ง ศรีจันทร์) ผู้บังคับกองพยาบาลโรงเรียนทหารบก ถูกจับที่โรงเรียนนายร้อยชั้นมัธยม, นายร้อยโทจรูญ ณ บางช้าง สังกัดกรมพระธรรมนูญทหารบก ถูกจับที่บ้านถนนสุรศักดิ์ และนายร้อยตรีเจือ ศิลาอาศน์ สังกัดกรมทหารปืนใหญ่ที่ ๒ ถูกจับที่กรมเสนาธิการทหารบก
การจับกุมตัวทหารผู้ก่อการกำเริบครั้งนี้ทำการหลายระลอก เฉพาะในวันแรกคือวันที่ ๑ มีนาคม จับกุมตัวนายทหารบกที่มีรายชื่ออยู่ในบัญชีที่ค้นพบจากบ้านขุนทวยหารพิทักษ์ ๕๘ คน เมื่อจับกุมมาได้ก็ให้มีการเขียนคำชี้แจงแบบซัดทอด ทำให้มีการขยายวงการสืบสวนออกไป และภายใน ๒ วัน ทางการก็จับกุมตัวผู้ต้องหาซัดทอดกันไปมาได้กว่าร้อยคน ส่วนผู้ต้องสงสัยแต่ยังไม่มีหลักฐานจับกุมเพียงพอก็ได้แต่งคนสะกดรอยเพื่อหาหลักฐานมัดตัวต่อไป เพราะหากหลักฐานไม่แน่นพอแล้วไปจับกุม สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงศ์ภูวนาถ ทรงเกรงว่า จะทำให้ผู้คนแตกตื่นตกใจไปมาก

สมาชิกผู้เริ่มก่อการ
จากการสอบสวนของคณะกรรมการสรุปผลการสอบสวนและพิจารณาคดีซึ่งได้กราบบังคมทูลต่อองค์พระประมุขเมื่อวันที่ ๔ พฤษภาคม ร.ศ. ๑๓๑ (พ.ศ. ๒๔๕๕) มีความโดยย่อดังต่อไปนี้
คณะกลุ่มทหารบก นายทหารเรือ และบุคคลพลเรือนได้สมคบคิดกันเปลี่ยนแปลงการปกครองบ้านเมือง โดยเริ่มประชุมครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๓ มกราคม ร.ศ. ๑๓๐ (พ.ศ. ๒๔๕๔ ตามศักราชเก่า) และประชุมต่อมาอีก ๗ ครั้งรวมเป็น ๘ ครั้งตามสถานที่ดังต่อไปนี้
สองครั้งแรก เมื่อวันที่ ๑๓ มกราคม และ ๒๑ มกราคม ร.ศ. ๑๓๐ ที่บ้านนายร้อยเอกขุนทวยหารพิทักษ์ ตำบลสาทร
ครั้งที่ ๓ วันที่ ๒๘ มกราคม ร.ศ. ๑๓๐ ที่โบสถ์ร้างวัดช่องลม ช่องนนทรี
ครั้งที่ ๔ วันที่ ๔ กุมภาพันธ์ ร.ศ. ๑๓๐ ที่ทุ่งนาห่างจากสถานีรถไฟคลองเตย ประมาณ ๖๐๐ เมตร
ครั้งที่ ๕ วันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ร.ศ. ๑๓๐ ที่สวนผักของพระสุรทัณฑ์พิทักษ์ บิดาของนายอุทัย เทพหัสดิน ณ อยุทธยา ที่ตำบลศาลาแดง
ส่วนอีกสามครั้งหลัง คือวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์, วันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ และวันที่ ๒๙ กุมภาพันธ์ ร.ศ. ๑๓๐ ประชุมที่อนุกูลคดีกิจสถาน แถววังบูรพาภิรมย์ ซึ่งเป็นสถานที่ว่าความของนายร้อยโทจรูญ ณ บางช้าง สำนักงานอนุกูลคดีกิจสถานใช้เป็นที่สมาชิกพบปะกันและเป็นสถานที่รับสมาชิกใหม่ด้วย
การประชุมครั้งแรกที่บ้านนายร้อยเอกขุนทวยหารพิทักษ์นั้น เป็นเสมือนหนึ่งสมาชิกผู้เริ่มก่อการมีอยู่ด้วยกันทั้งสิ้น ๙ คน คือ
นายร้อยเอกขุนทวยหารพิทักษ์ สังกัดกรมแพทย์ทหารบก อายุ ๓๐ ปี
นายร้อยตรีเหรียญ ศรีจันทร์ สังกัดกรมทหารราบที่ ๑ มหาดเล็กรักษาพระองค์ อายุ ๒๐ ปี
ว่าที่นายร้อยตรีสิริ ชุณห์ประไพ สังกัดกรมทหารราบที่ ๑๑ มหาดเล็กรักษาพระองค์ อายุ ๒๒ ปี
นายร้อยตรี ม.ร.ว. แช่ รัชนิกร สังกัดกองโรงเรียนนายสิบ กองพลที่ ๑ รักษาพระองค์ อายุ ๒๒ ปี
ว่าที่นายร้อยตรีเขียน อุทัยกุล สังกัดกองโรงเรียนนายสิบ กองพลที่ ๑ รักษาพระองค์ อายุ ๒๕ ปี
นายร้อยตรีปลั่ง บูรณะโชติ สังกัดกองปืนกลที่ ๑ อายุ ๒๒ ปี
นายร้อยตรีสอน วงษ์โต สังกัดกองปืนกลที่ ๑ อายุ ๒๓ ปี
นายร้อยตรีจรูญ ษะตะเมษ สังกัดกองปืนกลที่ ๑ อายุ ๒๖ ปี
ปัญญาชนยุคใหม่
คณะ ร.ศ. ๑๓๐ เป็นกลุ่มปัญญาชนในยุคใหม่ที่จบจากโรงเรียนนายร้อยทหารบก มีพื้นฐานการศึกษาอย่างดีเพราะวิชาที่กำหนดสอบเข้าโรงเรียนนายร้อยทหารบกอยู่ในมาตรฐานสูง นายทหารบางนายที่ถูกจับกุมยังอยู่ในระหว่างศึกษาเพิ่มเติม เช่น นายทหารบก ๑๐ นาย กำลังศึกษาในโรงเรียนเสนาธิการทหารบก ส่วนผู้ไม่ได้จบจากโรงเรียนนายร้อยทหารบกก็เป็นผู้มีพื้นฐานการศึกษาสูง เช่น ร.อ. ขุนทวยหารพิทักษ์ และ พ.ต. หลวงวิฆเนศร์ประสิทธิ์วิทย์ จบจากโรงเรียนแพทย์และเป็นแพทย์ประจำโรงเรียนนายร้อยทหารบก ร.ท. จรูญ ณ บางช้าง ก็จบเนติบัณฑิตย์ รับราชการเป็นนายทหารประจำกรมพระธรรมนูญ และเป็นครูสอนวิชาปืนกล
ยังมีข้าราชการพลเรือนอีกหลายคน เช่น นายอุทัย เทพหัสดิน ณ อยุธยา นายเซี้ยง สุวงศ์ (พระยารามบัณฑิตสิทธิ์เศรณี) นายน่วม ทองอินทร์ (พระนิจพจนาตก์) นายเปล่ง ดิษยบุตร (หลวงนัยวิจารณ์) ซึ่งล้วนมาจากกระทรวงยุติธรรมและสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนกฎหมาย
แนวทางการเปลี่ยนแปลงการปกครอง
ที่ประชุมได้ตกลงเรื่องเปลี่ยนแปลงการปกครองออกเป็น ๒ แบบคือ
"ลิมิเตดมอนากี" (Limited Monarchy) จะมีการดำเนินการ ๒ อย่าง คือ
ทำหนังสือกราบบังคมทูลพระกุรณาโดยละม่อม
ยกกำลังเข้าล้อมวัง แล้วบังคับให้ทรงสละพระราชอำนาจมาอยู่ใต้กฎหมาย หรือเปลี่ยนพระเจ้าแผ่นดินโดยจะทูลเชิญสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนครสวรรค์วรพินิต หรือ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์อยู่ใต้กฎหมาย
"รีปับลิค" (Republic) จะทูลเชิญเสด็จพระเจ้าพี่ยาเธอกรมหมื่นราชบุรีดิเรกฤทธิ์ขึ้นเป็นประธานาธิบดี
สายการบังคับบัญชา
คณะ ร.ศ. ๑๓๐ วางสายบังคับบัญชามีหัวหน้า ๓ คน มีนายร้อยเอกขุนทวยหารพิทักษ์ หัวหน้าคนที่ ๑ นายร้อยโทจรูญ ณ บางช้าง หัวหน้าคนที่ ๒ และร้อยโทจือ ควกุล หัวหน้าคนที่ ๓ และยังแบ่งแยกหน้าที่ให้กับสมาชิกต่างๆ ตามสายงานดังนี้
หน้าที่ปกครอง : นายร้อยโทจรูญ
หน้าที่เสนาธิการ : นายร้อยโทจือ มีนายร้อยโททองดำ เป็นผู้ช่วย
หน้าที่การเงิน : นายร้อยเอกขุนทวยหารพิทักษ์ มีนายร้อยโทจรูญ เป็นผู้ช่วย
หน้าที่กฎหมาย : นายร้อยโทจรูญ มีนายร้อยโททองดำ เป็นผู้ช่วย
หน้าที่ต่างประเทศ : นายพันตรีหลวงวิฆเนศร์ประสิทธิ์วิทย์
หน้าที่บัญชีพล : นายร้อยตรีเขียน นายร้อยตรีโกย นายร้อยตรีปลั่ง
หน้าที่จัดการเลี้ยงดู : นายร้อยเอกขุนทวยหารพิทักษ์
หน้าที่สืบข่าวส่งข่าว : นายร้อยตรี ม.ร.ว. แช่ นายร้อยตรีบ๋วย นายร้อยตรีเนตร นายร้อยตรีสอน
หน้าที่แพทย์ : นายร้อยเอกขุนทวยหารพิทักษ์
ที่ปรึกษาทั่วไป : นายร้อยโทจรูญ
การรายงานข่าวของสื่อต่างประเทศ และปฏิกิริยาจากตัวแทนรัฐบาล
หนังสือพิมพ์ที่ออกในต่างประเทศเช่นอังกฤษและอเมริกาเสนอข่าวทหารก่อการกำเริบ มีพาดหัวข่าวและเนื้อหาของข่าวแต่เพียงว่า มีนายทหารกลุ่มหนึ่งพร้อมด้วยพลเรือนคิดเปลี่ยนแปลงการปกครองในเมืองสยาม แต่ถูกทางการจับกุมตัวไว้ได้หมด หนังสือพิมพ์ต่างประเทศที่ลงข่าวเช่น หนังสือพิมพ์ เดอะนิวยอร์ค เฮรัลด์ (The New York Herald) เดอะอีฟนิงก์ สตาร์ (The Evening Star) เดอะวอชิงตัน ไทม์ (The Washington Time) เดอะนิวยอร์ค ซัน (The New York Sun) เดอะวอชิงตัน โพสต์ (The Washington Post) และเดอะไทมส์ (The Times)
กระทรวงการต่างประเทศของสยามดูไม่ค่อยสบายใจนัก ที่ปรากฎข่าวเรื่องกบฏตามหน้าหนังสือพิมพ์ในต่างประเทศ สมเด็จกรมพระเทวะวงศ์วโรปการ เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ จึงทรงมีคำสั่งไปยังสถานฑูตในต่างประเทศ โดยเฉพาะที่กรุงวอชิงตันสหรัฐอเมริกาว่า ถ้ามีผู้สอบถามเรื่องทหารก่อการกบฏในกรุงเทพฯ ก็ให้ชี้แจงว่า ได้มีผู้วางแผนจะปลงพระชนม์พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อจะสถาปนาระบอบการปกครองเป็นแบบสาธารณรัฐขึ้นมา แต่กลุ่มผู้ก่อการถูกจับกุมเสียก่อน มีผู้ถูกจับกุมประมาณ ๖๐ คน ส่วนใหญ๋เป็นพวกนายทหารหนุ่ม แต่ขณะนี้เหตุการณ์สงบเรียบร้อยแล้ว ไม่มีอะไรน่าหวั่นวิตก อนึ่งขอให้ทำความเข้าใจด้วยว่า การจับกุมครั้งนี้ไม่ใช่เพราะนายทหารหนุ่มมีความผิดเรื่องเรียกร้องรัฐธรรมนูญ องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นผู้มีน้ำพระทัยกว้างและทรงรักเสรีภาพดีพอ ทรงเข้าพระทัยในเรื่องประชาธิปไตย แต่ที่ต้องจับกุมเพราะนายทหารกลุ่มนี้จะใช้วิธีการรุนแรงถึงขั้นทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์
ข้อบกพร่องในการดำเนินงาน
คณะผู้ก่อการ ร.ศ. ๑๓๐ เริ่มประชุมกันกลางเดือนมกราคม และหลังจากนั้นเพียง ๖ อาทิตย์ก็ถูกจับกุม แม้สมาชิกแทบทุกคนลงความเห็นว่าเป็นเพราะนายร้อยเอกยุทธ หรือนายร้อยเอกยุทธกาจกำจร (แต้ม คงอยู่) ซึ่งกำลังจะไปรับตำแหน่งผู้บังคับกรมทหารปืนใหญ่ที่ ๗ พิษณุโลก เข้ามาเป็นสมาชิกในการประชุม ๒ ครั้งหลัง และนำเรื่องทั้งหมดไปทูลหม่อมเจ้าพันธุ์ประวัติเกษมสันต์ ผู้บังคับการกรมทหารช่างที่ ๑ รักษาพระองค์ และก็นำความขึ้นกราบบังคมทูลสมเด็จพะเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ
นายร้อยเอกยุทธยังเป็นคนเดียวในคณะที่ไม่ถูกลงโทษ และทางราชการยังได้ปูนบำเหน็จด้วยการส่งไปศึกษาต่อต่างประเทศ ที่กรุงปารีสเพื่อหลีกหนีภัยที่อาจเกิดขึ้น จากนายทหารที่ถูกจับกุมจะเจ็บแค้นและสั่งให้พรรคพวกที่อยู่นอกคุกตาม "เก็บ"
อย่างไรก็ตาม คณะ ร.ศ. ๑๓๐ ก็ยังมีข้อบกพร่องในการดำเนินการอีกหลายประการ จนทำให้ถูกจับกุมดังต่อไปนี้
การดำเนินการ โดยเฉพาะการเสาะแสวงหาสมาชิกหละหลวม ไม่รัดกุม ไม่มีการกลั่นกรองว่าใครจะชวนใคร ไม่มีมาตรการกำหนดคุณสมบัติผู้เข้าร่วมเป็นสมาชิก ต่างชักชวนกันเรื่อยเปื่อยไม่เลือกหน้า พอเห็นหน้าใครที่พอรู้จักและเป็ฯทหาร ก็ชักชวนกันง่ายๆ ด้วยคำถามทำนองเช่น "อยากเป็นคนหัวเก่าหรือหัวใหม่" "อยากเป็นคนโง่หรือคนฉลาด" ถ้าอยากเป็นคนหัวใหม่ หรือเป็นคนฉลาดก็ให้ไปประชุมที่นั่น ที่นี่ มีเรื่องสำคัญจะเล่าให้ฟัง นอกจากนี้ยังเชื่อว่าการดื่มน้ำร่วมสาบานจะเป็นเครื่องผูกมัดให้คนซื่อสัตย์และจงรักภักดีต่อพรรค การประชุมก็ขาดความจริงจัง ราวกับเป็นการชุมนุมสังสรรค์เพื่อนมากกว่าจะเป็นการประชุมเพื่อการก่อการปฏิวัติล้มล้างอำนาจทางราชการ
ขาดแผนการ ไม่ว่าจะเป็นแผนเล็กหรือแผนใหญ่ การประชุมขาดระเบียบ ไม่มีวาระการประชุม มีการพูดจาทุ่มเถียงอึกทึก ดูแล้วเหมือนวงเหล้าเสวนานินทาเจ้านาย นอกจากนี้ยังไม่มีการกำหนดตัวว่าใครเป็นหัวหน้ากลุ่มชัดเจน เมื่อมีการจับกุมทางการยังหาหลักฐานไม่ได้ว่าหัวหน้าขบวนการคือใคร ในที่สุดก็ต้องสรุปเอาว่า นายร้อยเอกขุนทวยหารพิทักษ์ และนายร้อยโทจรูญ ณ บางช้าง เป็นหัวหน้ากลุ่ม เพราะเป็นผู้ที่พูดมากที่สุดในการประชุมแต่ละครั้ง
ตั้งอยู๋ในความประมาท การจับกลุ่มชุมนุมแต่ละครั้ง มีการวิพากษ์วิจารณ์การบริหารงานของราชการ ตลอดจนตำหนิติเตียนองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยมิได้ระมัดระวังและไม่สนใจว่าเป็นการกระทำที่มีโทษมหันต์ ไม่มีการระแวดระวังสอดแนมติดตามดูการเคลื่อนไหวทางการ เช่นนายร้อยเอกยุทธเข้าร่วมประชุมในคืนวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์แล้ว วันรุ่งขึ้นก็เข้าเฝ้าถวายรายงานต่อสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ และในคืนนั้นเองก็ยังกลับเข้าร่วมการประชุม เพื่อแสวงหาความลับอีก นอกจากนี้นายร้อยเอกขุนทวยหารพิทักษ์ ยังขาดความระมัดระวังพกรายชื่อสมาชิกผู้เข้าร่วมก่อการติดตัวไว้โดยไม่จำเป็น เมื่อถูกจับกุมเจ้าหน้าที่สามารถค้นรายชื่อสมาชิกจากรายชื่อดังกล่าวได้ถึง ๕๘ ชื่อ ไม่รวมรายชื่อที่ถูกรายงานโดยนายร้อยเอกยุทธอีก ๒๖ ชื่อ
การซัดทอดกันเองในกลุ่ม เมื่อแรกถูกจับกุมทางการไม่มีหลักฐานใดมากไปกว่ารายชื่อของนายร้อยเอกขุนทวยหารพิทักษ์ และรายงานราชการลับของนายร้อยเอกยุทธ แต่ภายหลังเมื่อมีการไต่สวน บุคคลที่ถูกจับต่างซัดทอดกันเองบานปลายไปเกี่ยวข้องกับคนอีกจำนวนมาก แต่ก็เป็นไปได้ว่าการไต่สวนนั้นอาจมีการขุ่มขู่หรือผู้ถูกสอบสวนขาดปฏิภาณไหวพริบและการต่อสู้กับวิธีการสอบสวน นอกจากผู้เป็นทนายและนักเรียนกฎหมายบางคนเช่น นายอุทัย เทพหัสดิน ณ อยุธยา พอมีชั้นเชิงตอบโต้กับการไต่สวนได้บ้าง
โดยสรุปแล้วคณะ ร.ศ. ๑๓๐ ถูกจับกุมเนื่องจากขาดการวางแผน ตั้งอยู่ในความประมาท รู้เท่าไม่ถึงการณ์ ตลอดจนทรยศและซัดทอดผู้ร่วมสาบาน นายร้อยโทกินสุน แพทย์ทหาร ซึ่งเคยเข้าร่วมประชุมและให้การเป็นพยานโจทก์ก็ให้ความเห็นว่า "พวกที่คิดๆ โดยมากเป็นเด็กๆ มุทะลุ ตึงตัง ทำอะไรเห็นเป็นการสำเร็จทั้งนั้น"
การตัดสินลงโทษ
แม้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจักรพงศ์ภูวนาถ มีรับสั่งว่าเรื่อง ร.ศ. ๑๓๐ เป็นเรื่องของคนหนุ่มตามยุคตามสมัย ไม่มีอะไรรุนแรง บางทีจะถูกลงโทษบ้าง คนละ ๓ ปี ๔ ปีเท่านั้น
แต่ในความเป็นจริง ทางการได้ลงความเห็นมาตั้งแต่ราวกลางเดือนเมษายนแล้วว่า พวกก่อการกำเริบมีความผิดฐานพยายามจะประทุษร้ายต่อองค์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ตามประมวลกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา ๙๗ และฐานพยายามกบฏตามมาตรา ๑๐๒ ต่างมีโทษประหารชีวิตทุกคน
ในที่สุดคณะพิจารณาคดีก็ตัดสินโทษโดยพิจารณาถึงการมีส่วนร่วมกระทำความผิดมากน้อยเพียงใด โดยมีโทษหนักที่สุดคือประหารชีวิต จนมาถึงเบาที่สุดคือจำคุก ๑๒ ปี มีผู้ถูกตัดสินประหารชีวิต ๓ นายคือ นายร้อยเอกขุนทวยหารพิทักษ์ ในฐานะ "เป็นคนต้นคิดและหัวหน้าคณะแห่งคนพวกนี้ที่ปรากฎว่าคิดเปลี่ยนแปลงการปกครองบ้านเมืองและคิดกระทำการถึงประทุษร้ายต่อประชาชนและพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว", นายร้อยโทจรูญ ณ บางช้าง ซึ่งคณะกรรมการเห็นว่า "คงเกี่ยวกับการจัดหาอาวุธ" และ นายร้อยตรีเจือ ศิลาอาสน์ "ซึ่งเข้าร่วมประชุมสามครั้ง ภายหลังคิดเกลี้ยกล่อมคนจะเข้าแย่งพรรคพวกที่ถูกขังในเวลาใดเวลาหนึ่ง สุดแต่จะมีโอกาสกับพยายามประทุษร้ายพระเจ้าแผ่นดิน"
ต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยว่า "เห็นว่า กรรมการพิพากษาลงโทษพวกเหล่านี้ ชอบด้วยพระราชกำหนดกฎหมายทุกประการแล้ว แต่ว่าความผิดของพวกเหล่านี้มีข้อสำคัญที่จะกระทำร้ายต่อตัวเรา เราไม่ได้มีจิตพยาบาทอาฆาตมาดร้ายต่อพวกนี้ เห็นควรที่จะลดหย่อนผ่อนโทษโดยฐานกรุณา ซึ่งเป็นอำนาจของพระเจ้าแผ่นดินจะยกให้ได้
เพราะฉะนั้นบรรดาผู้ที่มีชื่อ ๓ คน ซึ่งวางโทษไว้ในคดีพิพากษาของกรรมาการว่าเป็นโทษชั้นที่ ๑ ให้ประหารชีวิตนั้น ให้ลดลงเป็นโทษชั้นที่ ๒ ให้จำคุกตลอดชีวิต แลบรรดาผู้มีชื่อ ๒๐ คน ซึ่งวางโทษไว้เป็นชั้นที่ ๒ ให้จำคุกตลอดชีวิตนั้น ให้ลดลงเป็นโทษชั้นที่ ๓ คือ ให้จำคุกมีกำหนด ๒๐ ปี ตั้งแต่วันนี้สืบไป แต่บรรดาผู้ที่มีชื่ออีก ๖๘ คน ซึ่งวางโทษไว้ชั้นที่ ๓ ให้จำคุก ๒๐ ปี ๓๒ คน และวางโทษชั้นที่ ๔ ให้จำคุก ๑๕ ปี ๖ คน และวางโทษชั้นที่ ๕ ให้จำคุก ๑๒ ปี ๓๐ คนนั้น ให้รอการลงอาญาไว้ ทำนองอย่างเช่นได้กล่าวในกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา ๔๑ และ ๔๒ ซึ่งว่าด้วยการรอลงอาญาในโทษอย่างน้อยนั้น และอย่าเพ่อให้ออกจากตำแหน่งยศก่อน แต่ฝ่ายผู้มีชื่อ ๓ คน ที่ได้ลงโทษชั้นที่ ๒ กับผู้ที่มีชื่อ ๒๐ คน ที่ได้ลงโทษชั้นที่ ๓ รวม ๒๓ คน ดังกล่าวมาข้างต้นนั้น ให้ถอดจากยศบรรดาศักดิ์ตามอย่างธรรมเนียม ซึ่งเคยมีกับโทษเช่นนั้น..."
คณะ ร.ศ. ๑๓๐ จึงถูกจำคุกจริงๆ ๒๕ คน โดยถูกคุมขังในคุกมหันตโทษ (คุกต่างประเทศ) ๒๓ คน และเรือนจำนครสวรค์ ๒ คน ทั้งหมดต้องโทษถูกคุกขังอยู่ ๑๒ ปี ๖ เดือน ๖ วัน จึงได้รับพระราชทานอภัยโทษ ในพระราชพิธีฉัตรมงคล เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๗ ครบรอบปีที่ ๑๕ ของการครองราชย์ ระหว่างต้องโทษมีผู้เสียชีวิต ๒ คนคือ นายร้อยตรีวาส วาสนา หลังจากต้องโทษ ๔ ปี ถึงแก่กรรมด้วยวัณโรค และ หลังจากนั้นอีก ๒ ปี นายร้อยตรี ม.ร.ว. แช่ รัชนิกร ถึงแก่กรรมด้วยโรคลำไส้
สาเหตุและเหตุการณ์ภายหลังพ้นโทษ
อาจกล่าวได้ว่า "กบฏ ร.ศ. 130" เป็นแรงขับดันให้คณะราษฎร ก่อการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยภายหลังการยึดอำนาจแล้ว พระยาพหลพลพยุหเสนาได้เชิญผู้นำการกบฏ ร.ศ. 130 ไปพบและกล่าวกับ ขุนทวยหาญพิทักษ์ (เหล็ง ศรีจันทร์) ว่า "ถ้าไม่มีคณะคุณ ก็เห็นจะไม่มีคณะผม" และหลวงประดิษมนูธรรมก็ได้กล่าวในโอกาสเดียวกันว่า "พวกผมถือว่าการปฏิวัติครั้งนี้เป็นการกระทำต่อเนื่องจากการกระทำเมื่อ ร.ศ. 130"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น